อาศิส พิทักษ์คุมพล
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ฮัจญี อาศิส พิทักษ์คุมพล | |
---|---|
จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 | |
ดำรงตำแหน่ง 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 – 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566 (13 ปี 138 วัน) | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ |
ถัดไป | อรุณ บุญชม |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 6 มีนาคม พ.ศ. 2490 อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566 (76 ปี) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ที่ไว้ศพ | มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา |
เชื้อชาติ | ไทย |
ศาสนา | อิสลาม |
คู่สมรส | ร่อมิอ๊ะ พิทักษ์คุมพล |
บุตร | 4 คน |
บุพการี |
|
อาชีพ | นักวิชาการศาสนาอิสลาม |
อาศิส พิทักษ์คุมพล (6 มีนาคม พ.ศ. 2490 – 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566) อดีตจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย อดีตประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 7 อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา อดีตสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2557
ประวัติ
[แก้]ชีวิตตอนต้น
[แก้]อาศิส พิทักษ์คุมพล เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2490 ที่ ตำบลหัวเขา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันคืออำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา) โดยสืบเชื้อสายมาจาก สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[ต้องการอ้างอิง] อาศิสเป็นบุตรคนโตจากทั้งหมดสี่คนของ มะแอ (ฮัจญีอิสมาแอล) กับน๊ะ (อามีนะห์) เบ็ญสะอีด[1] เขามีน้องได้แก่ ฟาตีม๊ะ ดนเล๊าะ และสาเร๊าะ โดยดนเล๊าะหรือเล๊าะถูกชายมุสลิมคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันสังหารจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566[2] ก่อนอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมหนึ่งวัน
อาศิสศึกษาสายสามัญในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สำหรับสายศาสนานั้น อาศิสศึกษาที่ปอเนาะอัลนาซอนีย๊ะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ปอเนาะตุยง (ปัจจุบันคือโรงเรียนสกุลศาสน์อิสลาม) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี[3]
ครอบครัว
[แก้]อาศิสได้สมรสกับร่อมิอ๊ะ พิทักษ์คุมพล มีบุตรธิดา 4 คน ได้แก่ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล (สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12) อิธวัฒน์ พิทักษ์คุมพล อาลาวี พิทักษ์คุมพล และฟาดีลา พิทักษ์คุมพล[4]
ป่วยและถึงแก่อนิจกรรม
[แก้]อาศิสในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2554 โดยหลังจากได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด อาการป่วยของนาย อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ได้ฟื้นตัวขึ้น และพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับ พร้อมกันนี้ จุฬาราชมนตรี ได้ออกปฎิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำสูงสุดมุสลิมในประเทศไทยในหลายกรณี จนประชาชนที่พบเห็นต่างแสดงความยินดีกับการฟื้นตัวของท่านจุฬาราชมนตรีตามลำดับ
เช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555 อาศิส พิทักษ์คุมพล ได้ประสบอุบัติเหตุล้มในบ้านพัก ขณะที่ลุกขึ้นเพื่อรับประทานอาหารในช่วงเช้าตรู่ เพื่อถือศีลอด จากอุบัติเหตุดังกล่าวส่งผลให้กระดูกสะโพกเชิงกรานของอาศิสแตก จนต้องส่งเข้าพักรักษาตัวอย่างเร่งด่วน ซึ่งได้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 สำนักจุฬาราชมนตรีได้ประกาศการเข้ารับการรักษาอาการป่วยของจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 1 โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จนกระทั่งในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2566 ได้มีประกาศสำนักจุฬาราชมนตรีความว่า "ตามที่ นาย อาศิส พิทักษ์คุมพล ได้เข้ารับการรักษาอาการป่วยเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น สำนักจุฬาราชมนตรีขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า นาย อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรไทย ได้กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ (ถึงแก่อนิจกรรม) แล้ว เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๑๐:๓๒ น. และจะจัดพิธีละหมาดญะนาซะห์ (ละหมาดขอพร) ในวันจันทร์ ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา เลขที่ ๓๕๒ ถนนลพบุรีราเมศวร์ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา" และร่างของท่าน (มัยยัต) ได้ฝังใกล้ ๆ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดินฝังศพและเชิญพวงมาลาวางที่ตั้งฝังศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์[5]
การทำงาน
[แก้]หลังจากประเสริฐ มะหะหมัดได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจุฬาราชมนตรี ได้เสนอชื่อของอาศิสเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มอบหมายให้ดูแลงานวิชาการร่วมกับวินัย สะมะอุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้ถึงแก่กรรม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด และเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยกรรมการผู้ที่เป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัด ซึ่งท่านก็ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการและรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในชุดที่มีสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการ
ในปี พ.ศ. 2539 อาศิสได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสัดส่วนผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 อาศิส พิทักษ์คุมพล ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 [6] ซึ่งนับโดยเป็นคนที่ 2 ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553[7] เขาได้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีในขณะที่เขาอายุ 63 ปี กระทั่งเขาได้ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2566 สิริอายุรวม 76 ปี รวมระเวลาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี 13 ปี 139 วัน
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 (ปัจจุบันคือ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วยคณะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 อาศิสได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่เขาได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งนี้ในภายหลังโดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใด ๆ ทางการเมือง[8]ท่านลาออกในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 วัน
คำปรารภเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
[แก้]“ท่านที่เคารพรักทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของพวกท่าน และไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะดีที่สุดไปกว่าพวกท่าน ดังนั้นหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ขอให้ท่าน ทั้งหลายได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าด้วย และหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องขอให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไข ให้ข้าพเจ้าได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง...ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ก็ขอให้ท่านโปรดเชื่อฟังข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าไม่เชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ ดังนั้น พวกท่านก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเชื่อฟังข้าพเจ้า”
บทบาทก่อนรับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี
[แก้]- ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2530 – 2553)
- รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
- สมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ. 2539 – 2543)
- คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ
- คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตากใบ
- ประธานชมรมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้
- คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
- คณะทำงานเผยแพร่แนวทางที่ถูกต้องตามหลักศาสนา กระทรวงมหาดไทย
- กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
- กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา สมาคมคุรุสัมพันธ์
- คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- คณะกรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัยอิสลามยะลา
- สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะกรรมการการยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ในสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
- ประธานคณะทำงานปรับปรุง ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม ในสภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและประเมินผลการดำเนินการกิจการฮัจญ์ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
- คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะทำงานศึกษา รวบรวม จัดทำสภาพปัญหาการใช้กฎหมายอิสลาม สำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- คณะอนุกรรมการนโยบายและประสานงานกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ประสานราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาสนาอิสลาม ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
- คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
- คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
- สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะกรรมการยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานสมาพันธ์คณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
- ดะโตะอิหม่าม มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ
- คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
เกียรติประวัติ
[แก้]- ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอิสลาม มหาวิทยาลัยรังสิต
- ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานโยบายและการวางแผนสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ
- ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
- ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภททั่วไป มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
- ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
- ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
ผลงาน
[แก้]- ร่วมจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
- ร่วมจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา สมาคมคุรุสัมพันธ์
- หนังสือ "อัลบิดอะฮฺ" สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม
- หนังสือ "350 ฮาดิษ"
- หนังสือ "40 ฮาดิษ ของอัลนาวาวีย์"
- บทเรียนเรื่อง "เอกภาพอัลเลาะฮ์ (เตาฮีด) จากอัลกุรอ่าน"
- หนังสือ "สาระเบื้องต้นของศาสนาอิสลามสำหรับเยาวชน" พ.ศ. 2535
- หนังสือ "คุณค่าตับลีฆ (การเผยแพร่อิสลาม)"
- คู่มือ "การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย"
- คู่มือแนะนำอิสลามและข้อปฏิบัติต่อมุสลิมสำหรับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
- คู่มือเกี่ยวกับ "คุตบะฮ์"
- บทความ "การบริหารมัสยิด"
- บันทึกการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิต (การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์)
- บทความ "ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดและแนวทางแก้ไขตามระบบอิสลาม"
- มาตรการทางสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนมุสลิม (หุกมปากัต) พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (เฉพาะจังหวัดสงขลา) พ.ศ. 2546
- บทความ "ปอเนาะในกระแสความรุนแรง : บทบาทที่ต้องทบทวน"
- สอนวิชาตัฟซีร, ฮาดิษ, นาฮู ในสถาบันปอเนาะ
- อบรมอิหม่ามหลักสูตร "พัฒนาผู้บริหารองค์กรมัสยิด" วิชาฟิกฮุลมุอามะลาต, ฟิกฮุลอิบาดาต
- วิถีมุสลิม "จริยธรรมพื้นฐานสำหรับเยาวชน"
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2557 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[9]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[10]
- พ.ศ. 2533 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[11]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "หนังสือพิมพ์กำปงไทย ประจำเดือน ยามาดิลอาเคร-รอยับ ฮ.ศ. 1430" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 1 มีนาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2010.
- ↑ "ฆ่าโหด "น้องชายจุฬาราชมนตรี" หนุ่มใหญ่หลอนยา ชักมีดฟัน-แทงยับ". ไทยรัฐออนไลน์. 21 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2023.
- ↑ zakee pitakumpon. "สมัยท่านจุฬาราชมนตรี เรียน ตุยง พักที่นี่..รู้ยัง ?". มุสลิมไทยโพสต์. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2023.
- ↑ "เปิดประวัติ 'อาศิส พิทักษ์คุมพล' จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 แห่งประเทศไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 22 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2023.
- ↑ ""อาศิส พิทักษ์คุมพล" จุฬาราชมนตรี ถึงแก่อนิจกรรม". องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย. 22 ตุลาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2023.
- ↑ 'อาศิส พิทักษ์คุมพล' เป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่
- ↑ "แต่งตั้งจุฬาราชมนตรี". มติชน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2010.
- ↑ "อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีขอไม่รับตำแหน่ง สนช". ไทยพีบีเอส. 2 สิงหาคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มิถุนายน 2015.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗. เล่ม 131 ตอนที่ 27 ข หน้า 140. วันที่ 3 ธันวาคม 2557.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์. เล่ม 115 ตอนที่ 23 ข หน้า 2. วันที่ 2 ธันวาคม 2541.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน. เล่ม 107 ตอนที่ 73 ง ฉบับพิเศษ หน้า 3. วันที่ 4 พฤษภาคม 2533.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ อาศิส พิทักษ์คุมพล
ก่อนหน้า | อาศิส พิทักษ์คุมพล | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ | จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 (6 มิถุนายน พ.ศ. 2553 — 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566) |
อรุณ บุญชม |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2490
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2566
- บุคคลจากอำเภอสิงหนคร
- บุคคลจากจังหวัดสงขลา
- มุสลิมชาวไทย
- จุฬาราชมนตรี
- สมาชิกวุฒิสภาไทยแบบแต่งตั้ง
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ท.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ม.
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยรังสิต
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ
- ผู้ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่